จากการเปิดเผยของพ่อค้าไม้ดอก :ดอกกุหลาบหลากสีเหล่านี้เกิดจากการฉีดสีต่างๆเข้ายังตำแหน่งที่แตกต่างกันของก้านดอก (อ้อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง) แต่ถึงอย่างไรก็น่าสนใจอยู่ เพราะมันขายได้ราคาดี ราคาขายที่ร้านไม้ดอกมหานครปักกิ่งตกดอกละ 600 ถึง 900 บาทเลยทีเดียวในวัน “วาเลนไทน์” วันวารแห่งความรัก เมื่อครั้งแรกที่นำออกวางตลาดนั้น จำหน่ายดอกละ หนึ่งพันบาทต้นๆเลยเชียวละ ผู้ผลิตคิดค้นกุหลาบเจ็ดสีคนแรกเป็นชาวดัทช์ที่ชื่อว่า Peter van der Ken Weir ได้วางแผนการตลาดไว้อย่างดีเยี่ยม โดยการซุ่มผลิตดอกกุหลาบสายรุ้งเป็นจำนวนมาก แล้วนำออกทุ่มขายไปทั่วโลกในเทศกาลวันวาเลนไทน์เมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้คุณปีเตอร์ผู้นี้รับทรัพย์จนเป็นเศรษฐีน้อยๆไปแล้ว (น่าอิจฉาจังเนาะ)
|

|
และแล้ว กาลเวลาก็หมุนเวียนเปลี่ยนผันมาบรรจบกันอีกครั้งในเทศกาลวันแห่งความรักของปีกระต่ายนี้ ตลาดไม้ดอกตามเมืองใหญ่ๆของประเทศจีน กุหลาบสายรุ้งก็ได้ปรากฏโฉมโชว์รูปลักษณ์ที่แปลกใหม่ให้ปรากฏแก่สายตาชาวจีน สร้างความตื่นเต้นกันยกใหญ่ แต่ทว่ายอดขายไม่สวยหรูนัก เนื่องจากราคาขายค่อนข้างสูงจาก จากคำบ่นกล่าวที่ได้ยินว่า “ราคาแพงไป ซื้อไม่ลง ซื้อไม่ลงจริงๆ” ตลาดของกุหลาบสีสายรุ้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศญี่ปุ่น และยุโรป
|

|
กุหลาบเป็นไม้ดอกที่ใช้สื่อแทนความรัก สีแดงให้ความรู้สึกถึงความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา น่าอภิรมย์ ในด้านความรักจึงเป็นสีที่บ่งบอกถึงอารมณ์พิศสวาทของหนุ่มสาวอันโรแมนติก (ชาวจีนยึดถือสีแดงเป็นสีแห่งความสุข มีโชคลาภ และความสมัครสมานกลมเกลียว แต่สีแดงในบ้านเรานั้นสร้างความแตกแยกได้อย่างเหลือเชื่อ) เมื่อกุหลาบสีสายรุ้งได้ผุดโผล่อวดโฉมในยามนี้ จึงสร้างความฮือฮาให้เกิดแก่บรรดาผู้ที่ตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความรักเป็นที่สุด ส่วนสีเหลืองนั้นสื่อถึงความรักแห่งมิตรภาพ สีชมพูนั้นบอกกล่าวถึงน้ำใจไมตรีจิตที่มีต่อกัน
|

|
ถ้าคุณมีความสับสนในความรู้สึกของเพื่อนหญิง – เพื่อนชาย ของคุณ ลองส่งมอบกุหลาบหลากสีนี้แก่ เธอ (คุณ) ดู คุณอาจจะได้รับคำตอบรับที่ทำให้คุณมั่นใจในมิตรไมตรีที่มีต่อกันก็เป็นได้ กล่าวถึงสีที่แตกต่างกันของกลีบภายในดอกเดียวกันนี้ เกิดจากสีชนิดพิเศษที่ไม่มีพิษ ปลอดภัยที่จะส่งมอบให้แก่กัน ไม่เป็นรักที่ปนเปื้อนพิษอย่างแน่นอน กลีบดอกสีที่ปรุงแต่งขึ้นนี้มีความคงทน สีไม่ซีด คงทนอยู่ได้นานพอๆกับดอกกุหลาบโดยทั่วไป (จะได้รักกันนานๆหน่อยนั่นปะไร) หากแต่ใบจะหลุดร่างเร็วกว่าเท่านั้น
|

|
เมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้วได้ไปเมืองคุนหมิงและไปชมตลาดไม้ดอก เต่าหนาน ที่เป็นตลาดไม้ดอกที่ใหญ่ที่สุดของมหานคร คุนหมิง ได้พบเห็นดอกไม้นานาพันธุ์หลากหลายร้อยชนิด แต่ที่เตะตาก็คือ กุหลาบสีน้ำเงินที่มีชื่อว่า นางพญาสีน้ำเงิน (蓝色妖姬) หะแรกเข้าใจว่าเป็นกุหลาบสีพันธุ์ใหม่ แต่ทว่า ... หามิได้ มันเกิดจากเทคนิคเดียวกันกับกุหลาบสีสายรุ้งที่ว่านี่เอง เพียงแค่นำเอากุหลาบดอกขาวล้วนจุ่มแช่ในน้ำสีเท่านั้น มันก็แปรเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินทั้งดอกให้เชยชม แต่ก่อนนั้นคงสามารถทำได้แค่สีเดียวเท่านั้น ส่วนสีอื่นๆนั้นยังคงทำไม่ได้ โดยเฉพาะที่ทำให้กลีบดอกเกิดเป็นสีแตกต่างกันคงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่ากันมาก แต่นาย ปีเตอร์ก็มิได้ย่อท้อนำเอากลวิธีนี้ไปทำการวิจัยขยายผลจนกระทั่งได้กุหลาบ เจ็ดสี นี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตามแต่ กุหลาบสีน้ำเงินนั้นไม่มีความคงทน สีจะซีดเร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นข้อด้อยที่ต้องทำการปรับปรุงต่อไป และขอบอกกล่าวว่า กุหลาบสีที่ว่าเหล่านี้ เกิดจากการรังสรรค์ แต่งขึ้นมา หาใช่การปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นไปตามต้องการไม่ ดังนั้น เมื่อรู้แล้ว อย่าได้เสียเวลาดั้นด้นหามาปลูกนะครับ หาไม่ได้หรอก สิบอกไห่
|
 |
หมายเหตุ
ขอกระซิบบอก กุหลาบสีน้ำเงินที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์นั้นมีอยู่จริง แต่ถูกกุหลาบย้อมสีตีกระจุยหายไปเลย เนื่องทำได้ง่ายกว่า เพียงแค่เอากุหลาบดอกขาว จุ่มแช่ลงในน้ำยาสีน้ำเงินแค่ชั่วข้ามคืนเท่านั้น ก็ได้กุหลาบน้ำเงินมาแล้ว 1 ช่อใหญ่ |