


|
ประเทศไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลผลิตที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอยู่ในรูปของวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมีการส่งออกในสภาพที่มีการแปรรูปแล้วก็ยังนับว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่ารายรับของสินค้าทางการเกษตรของไทยเรายังอยู่ในระดับต่ำ และปัญหาการส่งออกสินค้าทางการเกษตรของไทยเราในตลาดโลกยังประสบกับปัญหาต่างๆอีกมากมายนับไม่ถ้วน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้อย่างแข็งขัน ตัวอย่างเช่น ปัญหาการตลาดมักจะมีการปลอมปนสินค้าอยู่เนืองๆ ทำให้ขาดความเชื่อถือจากบรรดาประเทศคู่ค้าเป็นอย่างมาก อีกประการหนึ่งนั้นบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีการจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ แต่ของเราเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่กัน และไม่ค่อยประสบกับความสำเร็จมากนัก และยิ่งกว่านั้นทางภาครัฐของประเทศเหล่านั้นยังมีเงินกองทุนชดเชยสนับสนุนเกษตรกรในการผลิต (PSE) ให้กับเกษตรกรของเขาอีกด้วย (ญี่ปุ่นชดเชย 75 % อเมริกาชดเชย 49 % จีนเมื่อเข้า WTO แล้วชดเชยให้เกษตรกร 36.9 % ) จึงทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ทางภาครัฐของเราไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้ จึงเป็นการยากยิ่งที่จะไปสู้รบปรบมือแข่งขันกับบรรดาประเทศเหล่านั้นได้ แต่ปัญหาพื้นฐานที่น่าหนักใจมากกว่านั้นก็คือ ผลผลิตต่อหน่วยของเรานั้นต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างลิบลับ สาเหตุสำคัญก็คือเรื่องของสายพันธุ์และการจัดการ อย่างเช่นในการผลิตข้าวนั้น ขณะนี้ประเทศจีนสามารถปรับปรุงพันธุ์จนได้สายพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงถึง 2,200 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากว่าของเราเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว ในส่วนของการดำเนินการผลิตนั้นได้นำเครื่องจักรกลมาใช้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ลดต้นทุนด้านแรงงานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แม้เราจะมีข้อได้เปรียบของสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่โดดเด่นเหนือกว่าผู้อื่นก็ตาม นั่นก็หาใช่เป็นหลักประกันที่มั่นคงแน่นอนเสมอไปเลยทีเดียว ประเทศอื่นๆก็มีโอกาสพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีกว่าได้ เพราะมีความพร้อมทางวิทยาการหลายๆด้าน โดยเฉพาะทางวิศวพันธุกรรม ถ้าทั่วโลกยอมรับในพืชดัดแปลงพันธุกรรมเมื่อไร นั่นคือผลกระทบที่น่าหวาดหวั่นไม่น้อยต่อภาคเกษตรของไทยเรา ฉะนั้น จงอย่าได้นิ่งนอนใจ เราจักต้องรีบพัฒนาสายพันธุ์ที่เรามีดีกว่าเขา ให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากกว่าเดิมพร้อมทั้งคุณภาพที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้ด้วยความมั่นคง
|